เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ทำไงดี 6 ขั้นตอนแก้เผ็ด และข้อกฎหมาย

by dailylifestyle
เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

โลกนี้มีนวัตกรรมที่เรียกว่า “หูฟัง” แต่ข้างบ้านเราดันไม่รู้จัก เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดังเลยเป็นปัญหามลภาวะทางเสียงก่อกวนใจ จนไร้สมาธิทำงาน อ่านหนังสือ เสียงดนตรีอึกทึกครึกโครมแถมยังเปิดทุกวันไร้ความเกรงใจ จะช้าอยู่ไย งานนี้เราคงไม่ปราณีคนไร้ความคิดอย่างแก หากคุณคือคนหนึ่งที่รำคาญเสียงเพลงซึ่งตัวเองไม่อยากฟัง ลองใช้ข้อกฎหมายให้เกิดประโยชน์ดูสิ 7 ขั้นตอนแก้เผ็ดนี้อาจตอบโจทย์ก็ได้นะ

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

6 ขั้นตอนเอาคืนเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ข้างบ้านเสียงดัง แจ้งตำรวจได้ไหม?

1. ห้ามเข้าไปจัดการด้วยตนเองเด็ดขาด

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

ข้างบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ตอนกลางวันหรือกลางคืนก็น่ารำคาญด้วยกันทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องจำไว้ก็คือ “อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ” อย่าบุกเข้าไปเตือนพวกเขาด้วยตนเอง เพราะเราย่อมมีอารมณ์โมโห และคนข้างบ้านอาจรู้สึกโมโหจนปะทะฝีปากกัน สิ่งที่ทำได้ก็คือรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ 

2. ข้างบ้านเปิดเพลงเสียงดัง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

เมื่อเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง แล้วเราอยากจัดการจบปัญหาด้วยกฎหมาย ความจริงก็มีทั้งกฎหมายแพ่งและอาญามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราขอแนะนำให้ใช้เพียง 2 ข้อกฎหมายต่อไปนี้ก็เพียงพอ  

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370  ผู้ใดส่งเสียง หรือทำให้เกิดเสียงดัง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องรับวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 26 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้ใดผู้หนึ่งมิให้ก่อเหตุรำคาญ ในที่ หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนน ทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่าง ๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่าง ๆ ได้ 

3. แจ้งตำรวจก่อนง่ายที่สุด

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

ข้างบ้านเสียงดัง แจ้งใคร ก่อนอื่นขอแนะนำให้แจ้งตำรวจเป็นอันดับแรกโดยอาศัยข้อกฎหมายอาญามาตรา 370 ข้อแนะนำเพิ่มเติมคืออย่าโทร 191 เพราะอาจชักช้าไม่ทันการ ให้หาเบอร์โทรติดต่อตำรวจ สภ.ท้องที่เกิดเหตุจะโทรติดไว และง่ายที่สุด 

แต่คำถามก็คือ ถ้าแจ้งว่า “เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง” เจ้าหน้าที่จะมาระงับเหตุให้ไหม ตรงนี้ตอบยาก แต่ต้องใช้ทักษะสื่อสารของเราให้เกิดประโยชน์ รู้กฎหมายไว้ต่อรองกับตำรวจ ก่อนอื่นเราจะพาเพื่อน ๆ ไปเช็คลิสต์ดูว่าคนข้างบ้านของเราเข้าข่ายทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 370 หรือไม่เพื่อที่จะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ถูก 

– ทำให้เกิดเสียงโดยไม่มีเหตุอันควร คีย์เวิร์ดอยู่ที่ “ทำให้เกิดเสียง” ถ้าเปิดเพลงเสียงดังโดยไม่มีงานบวช งานแต่ง ก็ใช่แล้วล่ะไปต่อได้เลย 

– จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน คีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า “เดือดร้อน” ถ้าเราคือผู้เดือดร้อนจากเสียงนั้น เช่นเสียงเพลงข้างบ้านทำให้เราไม่มีสมาธิอ่านหนังสือสอบ ไม่มีสมาธิทำงาน ก็ถือว่าครบตามองค์ประกอบที่เราสามารถแจ้งความได้ 

4. ต่อรองกับตำรวจให้ได้

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

เมื่อข้างบ้านเสียงดังรบกวน ทำผิดกฎหมาย เรารู้กฎหมาย คำถามที่เราอาจได้ยินกับเจ้าหน้าที่ก็คือ “ข้างบ้านเสียงดังมากเลยหรือ” ถ้าได้ยินคำถามลักษณะให้ตอบไปเลยว่า “มันทำให้เราเดือดร้อน” ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างเช่นอ่านหนังสือ หรือใช้สมาธิทำงานได้ ขอรบกวนให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตักเตือน เพื่อระงับเหตุ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดังอย่างชัดเจนประหนึ่งบอกทางพนักงานส่งพัสดุ เปอร์เซ็นต์ในการเข้ามาระงับเหตุก็มีค่อนข้างสูง 

5. เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง แจ้งตำรวจครั้งแรกไม่จดจำ ทำอย่างไร

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

ก็แจ้งอีกหนึ่งหน่วยงาน โดยครั้งนี้เราจะใช้ข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 26 โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือแจ้งไปยัง “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, นายกเทศมนตรี, ผู้ว่ากรุงเทพฯ, นายกเมืองพัทยา หรือหัวหน้าผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบุคคลทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอำนาจห้ามหรือระงับเหตุไม่ให้เพื่อนบ้านของเราก่อความรำคาญได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการเพื่อนบ้านเสียงดังอย่างปลอดภัยต่อตัวเอง 

6. หากเป็นบ้านจัดสรร ให้แจ้งนิติบุคคลให้เข้าไปจัดการ

เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง

ถ้าหากว่าเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร และเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง แนะนำให้ใช้วิธีการแจ้งไปยังนิติบุคคลผู้มีอำนาจให้เข้าไปเจรจา ต่อรองและจัดการกับปัญหาก่อน ซี่งถ้าเพื่อนบ้านมีความเป็นปัญญาชนมากพอ เขาคงจะรับฟัง หรือไม่เปิดเพลงเสียงดังตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดัง นั้นต้องอาศัยทั้งความพยายามและอดทน เพราะบางครั้งหลังจากเจ้าหน้าที่กลับไปแล้วมนุษย์ตัวดีทั้งหลายก็จะเปิดเพลงอื้ออึงแจกชาวบ้านฟังอีกครั้ง แม้เราไม่เต็มใจ มิหนำซ้ำยังเปิดเสียงดังกว่าเดิมชวนหมั่นไส้ หากเป็นเช่นนั้นแล้วคงยากที่จะแก้ได้ เว้นแต่มีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับมลภาวะทางเสียงให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มโทษ ให้เจ้าหน้าที่หันมาจัดการอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าปัญหาเพื่อนบ้านนิสัยไม่ดี ชอบเปิดเพลงจะหายไปมากขึ้น สุดท้ายนี้ขอฝากถึงเพื่อน ๆ ที่กำลังประสบพบเจอปัญหาแบบเดียวกันว่า บางครั้งการเจรจากับเขาอย่างนอบน้อมและมีเหตุผลก่อนก็อาจพอช่วยได้บ้างเช่นกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ DailyLifeStyle

You may also like

Leave a Comment